คุณธรรมของพระเดชพระคุณหลวงปู่

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

หลวงปู่เป็นบุคคลสําคัญที่หาได้ยากยิ่ง ท่านมีมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่จะนําพาสรรพสัตว์ทั้งหลายเข้าสู่พระนิพพานให้หมดก่อน แล้วท่านจึงจะเข้าพระนิพพานทีหลัง  การกล่าวถึงคุณธรรมของบุคคลผู้มีจิตใจอันสูงส่งเช่นนี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่คนธรรมดาสามัญจะสามารถทําได้อย่างครบถ้วนดังนั้นเรื่องราวที่ยกมาเป็นตัวอย่างต่อไปนี้จึงเป็นเพียงเศษเสี้ยวของคุณธรรมความดีงามของท่านเท่านั้น

คุณธรรมของหลวงปู่

รักพระพุทธศาสนา

หลวงปู่ตั้งใจอุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนาตั้งแต่แรกบวช และตั้งใจที่จะเป็นพระแท้ท่านจึงหมั่นฝึกฝนตนเองทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติตลอดมา

รักการปฏิบัติธรรม

หลวงปู่ท่านใช้เวลาในชีวิตสมณะอย่างทรงคุณค่ายิ่งนับตั้งแต่วันแรกที่บวช ท่านตั้งใจปฏิบัติธรรมทุกวันตลอดมา เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว ท่านก็ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตให้กับการศึกษาค้นคว้าและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย

มีความกตัญญูกตเวที

หลวงปู่ท่านเป็นผู้เลิศด้วยความกตัญญูกตเวทิตาใครอนุเคราะห์ท่านก่อน ท่านไม่เคยลืมบุญคุณ และพยายามหาทางตอบแทน เช่น อุบาสิกานวม แม่ค้าขายข้าวแกง ที่เคยจัดภัตตาหารเพลมาถวายท่านเป็นประจําสมัยที่ท่านเคยอยู่วัดพระเชตุพนฯ ต่อมาอุบาสิกานวมชราและทุพพลภาพ ไม่มีผู้ใดดูแล หลวงปู่ท่านก็รับมาอุปการะ

เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา

ในสมัยนั้น มีผู้คนเป็นจํานวนมากเดินทางมาจากสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อไปขอพึ่งบารมีหลวงปู่ที่วัดปากน้ำ และด้วยความที่ท่านมีจิตใจที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา เวลาใครมีเรื่องเดือดร้อนอะไรมา ท่านจึงไม่เคยปฏิเสธ และถามไถ่ทุกคนด้วยความห่วงใยเสมอ ถ้าใครไม่มีที่นอน หมอน มุ้ง ท่านก็สั่งให้ไวยาวัจกรจัดหาเครื่องนอนและที่พักให้

กล้าหาญ

   การเผยแผ่วิชชาธรรมกายของหลวงปู่ในสมัยนั้นถูกคัดค้านต่อต้านจากทั้งฆราวาสและพระภิกษุสงฆ์จํานวนมาก เพราะในสมัยนั้นการส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นไปในด้านปริยัติมากกว่าด้านปฏิบัติและพระภิกษุที่สนใจการปฏิบัติธรรมมักจะหลีกเร้นไปบําเพ็ญเพียรตามป่าเขาลําเนาไพร หลวงปู่จึงเป็นพระสงฆ์องค์แรกที่กล้าสอนการปฏิบัติธรรมอย่างเปิดเผย ท่านกล้าพูดว่า “ได้ธรรมกาย” กล้าเอาวิชชาธรรมกายมาสอน ท่านจึงเป็นที่เพ่งเล็งให้คนโจมตีแต่ท่านก็มิได้หวั่นเกรงย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ ยังคงมุ่งมั่นเผยแผ่วิชชาธรรมกายต่อไปเพราะท่านเล็งเห็นถึงอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นแก่ชาวโลก

เป็นครูที่ดี

    หลวงปู่เป็นครูที่ดีเยี่ยม ดังจะเห็นได้ว่า พระธรรมเทศนาของท่านทุกเรื่องล้วนค้นคว้ามาจากพระไตรปิฎก มีที่มาชัดเจน ทําให้ผู้ฟังธรรมได้รับทั้งความเพลิดเพลินและได้ความรู้อย่างลึกซึ้ง ประการสําคัญ วิชาที่หลวงปู่สอนเป็นวิชชาชีวิต ที่ช่วยให้ทุกคนมีความสุขที่แท้จริง และช่วยปิดนรก เปิดสวรรค์รวมทั้งเปิดหนทางพระนิพพานให้ หลวงปู่จึงเป็นครูที่หาใครเปรียบได้ยาก

อดทนและขยันขันแข็ง

      เมื่อหลวงปู่อายุได้เพียง 14 ปีเศษ บิดาของท่านถึงแก่กรรม ท่านเป็นลูกชายคนโตจึงต้องหาเลี้ยงครอบครัวแทนบิดา ซึ่งนับเป็นภาระที่หนักมากสําหรับเด็กวัยขนาดนั้น แต่ท่านก็อดทนทําการงานด้วยความขยันขันแข็ง ทําให้กิจการค้าเจริญรุ่งเรือง จนถือเป็นพ่อค้าที่มีฐานะดีคนหนึ่ง เมื่อไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ท่านก็ต้องใช้ทั้งความอดทนและความขยันขันแข็งเป็นอย่างมากในการพัฒนาวัดที่เกือบเหมือนวัดร้าง ให้เจริญรุ่งเรืองทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ

เป็นคนจริง

     หลวงปู่ได้ตั้งใจแปลคัมภีร์ใบลานมหาสติปัฏฐานลานยาว ผูกนี้ให้ออก ถ้ายังแปลไม่ออก จะยังไม่หยุดเรียน ซึ่งต่อมาท่านก็เรียนบาลีจนสามารถแปลคัมภีร์ผูกนี้ออกจริง ๆ จึงหยุดเรียน

มีใจเด็ดเดี่ยว

    เมื่อครั้งที่จําพรรษาที่วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง ในวันเพ็ญเดือน 10 ระหว่างกลางพรรษาที่ 12 ท่านตั้งใจปฏิญาณตนยอมตายถ้าไม่ได้บรรลุธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุ ด้วยการทําความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยวไม่อาลัยในชีวิต ทําให้ท่านได้บรรลุธรรมในคืนนั้นเอง

รู้ค่าของเวลา

   หลวงปู่ท่านรู้คุณค่าของเวลามาก ท่านไม่ยอมปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ นับตั้งแต่เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ท่านไม่เคยไปค้างคืนที่อื่นเลย และไม่ยอมออกไปนอกวัด เว้นแต่มีกิจจําเป็นของสงฆ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น ในกรณีที่มีผู้นิมนต์ท่านไปฉันเพลนอกวัดท่านมักขอให้พระรูปอื่นไปแทน  เวลาเทศน์สอนพระภิกษุสามเณร   ท่านก็จะเตือนให้ทุกรูปรู้จักใช้เวลาทุก ๆ นาทีอย่างคุ้มค่า เช่น ในเรื่องการทําสมาธิท่านบอกว่า “การทําใจให้หยุดนิ่งนั้น สามารถทําได้ทุกเวลา ทุกโอกาส”

เคร่งครัดพระธรรมวินัย

    หลวงปู่เป็นพระแท้ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่พระภิกษุทั้งหลาย แม้ในเวลาอาพาธท่านก็ยังคงรักษาศีลอย่างเคร่งครัดและปฏิบัติกิจภาวนาด้วย ครั้งหนึ่ง มีคนเห็นว่าหลวงปู่ท่านอาพาธหนัก ฉันภัตตาหารได้น้อย จึงสั่งให้แม่ครัวต้มข้าวให้เปื่อย บดให้ละเอียด กรองด้วยผ้าขาว ใส่กระติกน้ําร้อนไปถวาย แต่หลวงปู่ท่านไม่ยอมฉัน

รักความสามัคคี

     ในการอยู่ร่วมกัน หลวงปู่ท่านถือความสามัคคีเป็นสําคัญ ทุกคนในวัดจะต้องมีวัตรปฏิบัติเหมือนกัน ทําสิ่งใดก็ต้องทําพร้อมเพรียงกัน ไม่ขัดแย้งกัน พระภิกษุสามเณรและแม่ชีต้องลงสวดมนต์ทําวัตร ฟังเทศน์ฟังธรรมพร้อมกัน แม้แต่การปลงผมของพระภิกษุสามเณรและแม่ชีท่านก็ให้ปลงวันเดียวกัน ถ้าผู้ใดไม่ปลงผมวันเดียวกับผู้อื่น ท่านจะพูดว่า “แม้แต่หัวมันยังไม่สามัคคีแล้วใจจะสามัคคีกันได้อย่างไร” ท่านกล่าวว่า ความสามัคคีในหมู่คณะทําให้เป็นสุข หากไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน หมู่คณะก็จะเจริญ และถ้ามีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น ก็สามารถแก้ให้ลุล่วงไปได้ด้วยสามัคคีธรรม

รักความสะอาดเรียบร้อย

     หลวงปู่ท่านชอบความสะอาดเรียบร้อย ตัวอย่าง เช่น เวลาจัดโต๊ะฉันภัตตาหารของพระภิกษุสามเณร ท่านให้แม่ชีวางโต๊ะตั้งเป็นระยะ ๆ อย่างมีระเบียบ ให้ปูผ้าตรงกลาง วางแก้วน้ํา กาน้ำ แล้วเทน้ําใส่แก้วไว้ให้เรียบร้อยทุกอย่างท่านบอกว่าต้องทําให้สะอาด แล้วเวลาพระฉัน ก็ไม่ให้คุยกัน ถ้าคุยกันท่านจะถามว่า “ฉันข้าวหรือฉันเหล้า” ส่วนข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของท่านก็สะอาดสะอ้าน และจัดไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย สบง จีวร อังสะ สังฆาฏิที่ท่านนุ่งห่ม ต้องซักให้สะอาด

มีระเบียบวินัย

     วัดปากน้ำมีสมาชิกอยู่เป็นจํานวนมากจึงต้องมีระเบียบวินัยและมีกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด ผู้ใดละเมิดกฎประพฤติตัวไม่เหมาะไม่ควร หลวงปู่ก็จะว่ากล่าวตักเตือนถ้าทําผิดซ้ำ ท่านจะตักเตือนอีกครั้ง และถ้ายังกระทําผิดอีกเป็นครั้งที่ ๓ ท่านจะสั่งลงโทษ เช่น ให้กวาดบริเวณวัดบ้าง ตัดไม้ฟืนส่งโรงครัวบ้าง ถ้ายังกระทําผิดซ้ำอีก ท่านก็จะให้ออกจากวัด

รักการศึกษา

    หลวงปู่ท่านเห็นคุณค่าของการศึกษามาก ท่านสอนให้ลูกศิษย์รักการศึกษา ให้ตั้งใจเรียนหนังสือ จะเรียนทางโลกก็ได้ทางธรรมก็ได้ท่านเปิดโอกาสให้ทุกคน ท่านมักจะกล่าวว่า “คนที่มีการศึกษาดีจะได้อะไรก็ดีกว่า ประณีตกว่าผู้อื่น คนมีวิชาเท่ากับได้สมบัติจักรพรรดิกินใช้ไม่หมด” ถ้าใครไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ท่านจะกล่าวว่า “อ้ายโลกก็เหลว อ้ายธรรมก็แหลกเป็นแบกบอน เหลือแต่กิน นอน เที่ยว สามอันเท่านั้นเอย” คือ ทางโลกก็ไม่ได้ทางธรรมก็ไม่ดี

ประหยัด

     เวลามีคนไปถวายผ้าไตรจีวรใหม่ หลวงปู่มักนําไปแจกพระภิกษุสามเณร ตัวท่านเองใช้แต่ของเก่า พอเก่ามาก ๆ ท่านก็ให้ซ่อมแซมเพื่อใช้ต่อไป ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ้าหายาก ท่านให้แม่ชีเอาอังสะหลาย ๆ ตัวที่ไม่ค่อยได้ใช้มาเย็บต่อกันเป็นจีวรแต่เนื่องจากอังสะแต่ละตัวมีสีไม่เหมือนกัน ดังนั้นจีวรที่เย็บขึ้นมาจึงมีหลายสีเย็บเสร็จแล้วเอาไปแจกพระเณรรูปอื่น ๆ ก็ไม่มีใครรับ หลวงปู่เลยใช้เอง ต่อมามีศิษย์ผู้หนึ่งทนดูไม่ได้เลยขอจีวรผืนนี้ไปบูชา

รู้ค่าของเงิน

    ท่านบอกว่าอย่าเห็นว่าเงิน 1 บาท เป็นกระเบื้องที่ไม่มีค่า บาทหนึ่งก็ซื้อขนมได้อย่าประมาท อย่าดูถูกเงิน คนที่ดูถูกเงิน ตอนหลังแทบจะถือกะลาขอทานก็มี แม้หลวงปู่ท่านจะเห็นคุณค่าของเงินมาก แต่ท่านก็ไม่จับเงิน ใครจะถวายเงินต้องไปหาไวยาวัจกร แล้วไวยาวัจกรจะเขียนใบปวารณาให้จากนั้นนําใบปวารณาไปถวายหลวงปู่ หลวงปู่ก็จะทราบว่า คนนั้น คนนี้ถวายเงินเท่านั้น เท่านี้

รู้คุณค่าของสิ่งของ

     หลวงปู่ท่านเป็นคนละเอียดลออ รู้ค่าของสิ่งของทุกอย่างที่ญาติโยมนํามาถวาย แม้แต่ของเล็ก ๆ น้อย ๆอย่างเช่น เวลาเดินไปฉันภัตตาหาร ถ้าท่านเห็นข้าวสารที่ผู้มีจิตศรัทธาบรรทุกเรือมาถวายตกอยู่แม้เพียงเล็กน้อยท่านจะเรียกเด็กมาเก็บ ท่านเห็นว่า ข้าวสารที่ตกหล่นอยู่แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าเก็บมารวมกันหลาย ๆ ครั้ง ก็เป็นจํานวนมากพอที่จะนําไปหุงได้ หรือเวลาเดินไปตามถนน ถ้าท่านเจอเศษไม้เป็นท่อน ท่านจะเก็บมาไว้ทําฟืน

รักการปฏิสันถาร

     หลวงปู่ท่านมีปิยวาจา ท่านไม่พูดให้ผู้ใดกระทบกระเทือนใจ เวลาใครมีเรื่องเดือดร้อนมาปรึกษาท่าน ท่านก็จะรับฟังและให้คําแนะนําที่มีประโยชน์แก่ทุกคน นอกจากนี้ ท่านยังสั่งสอนศิษย์ไม่ให้พูดแบบมีเหล็กใน คือไม่ให้ใช้วาจาทิ่มแทงใจผู้อื่น ให้พูดจาปฏิสันถารต้อนรับอย่างดีท่านบอกว่า “เขาจะได้นํามงคลมาให้แต่ถ้าเราปฏิสันถารไม่ดีเขาก็จะนํามงคลกลับไปและทิ้งอัปมงคลไว้ให้”

ให้เกียรติคน

        ทุกคนที่มาหาหลวงปู่จะได้รับการต้อนรับอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันหมด ปกติเวลาออกรับแขก หลวงปู่จะนั่งบนเก้าอี้แขกทุกคนนั่งกับพื้นเสมอกันหมด ไม่ว่าสามัญชนคนธรรมดา หรือผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ตาม หลวงปู่ท่านให้เกียรติทุก ๆ คน ไม่ชอบให้คนดูหมิ่นกัน ท่านบอกว่าการดูหมิ่นเหยียดหยามกันแสดงให้เห็นถึงความไม่มีเมตตาในกันและกัน การดูหมิ่นกันจะทําลายตัวเอง แม้คนใหญ่คนโตก็จะเดือดร้อนเพราะดูถูกดูหมิ่นผู้น้อย เนื่องจากความเกลียดชังของผู้น้อยสามารถทําลายผู้ใหญ่ได้

รักและเป็นห่วงลูกศิษย์

        หลวงปู่ท่านรักและเป็นห่วงลูกศิษย์มาก ถ้าพระจะมรณภาพ ท่านก็จะไปนั่งคุมบุญให้แม่ชีก็เช่นกัน ถ้าหากเสียชีวิตลง หลวงปู่ท่านก็จะคุมบุญให้และจัดการศพให้เรียบร้อย ท่านดูแลลูกศิษย์เป็นอย่างดีขาดแคลนอะไรท่านหาให้ทุกอย่าง ด้วยความเป็นห่วงลูกศิษย์ก่อนที่ท่านจะมรณภาพท่านเคยพูดไว้ว่า “พวกเอ็งคอยดูนะ แม้เมื่อหลวงพ่อตายไปแล้ว ก็จะเลี้ยงดูให้พวกเอ็งได้อิ่มหนําสําราญ ไม่ต้องกลัวขอเพียงให้ทุกคนตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ตั้งใจปฏิบัติกันให้จริงจัง”