ชีวประวัติพระเดชพระคุณหลวงปู่

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร

หลวงปู่วัดปากน้ำ

ชาติกำเนิดและชีวิตวัยเยาว์

พระมงคลเทพมุนี ท่านมีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2427 ตรงกับวันแรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีวอก ณ หมู่บ้านเหนือ ฝั่งตรงข้ามวัดสองพี่น้อง ต.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรของ นายเงิน มีแก้วน้อย และนางสุดใจ มีแก้วน้อย

หลวงปู่วัดปากน้ำ

เกิดแผ่นดินใบบัว

แผ่นดินบ้านเกิดหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นแผ่นดินรูปใบบัวมีน้ำล้อมรอบ มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์จะได้จัดสร้าง “มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี” รูปทรงภูเขาทอง 8 เหลี่ยม ภายในบันทึกประวัติการสร้างบารมีของท่านตั้งแต่ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย บริเวณกลางวิหารประดิษฐานรูปหล่อทองคำพระเดชพระคุณหลวงปู่ เพื่อให้สาธุชนได้กราบไหว้และนำแบบอย่างคุณธรรมของท่านมาเป็นกำลังใจและแบบแผนในการสร้างบารมีต่อไป

หลวงปู่วัดปากน้ำ

สอนตัวเองได้ตั้งแต่เยาว์วัย

ในวัยเด็กท่านเป็นเด็กฉลาด ใจคอเด็ดเดี่ยวมั่นคง เมื่อตั้งใจทำสิ่งใดเป็นต้องพยายามทำจนสำเร็จ เมื่อไม่สำเร็จเป็นไม่ยอมเด็ดขาด เช่น ท่านเคยช่วยทางบ้านเลี้ยงวัว เมื่อวัวพลัดเข้าไปในฝูงวัวบ้านอื่น ท่านจะต้องไปตามวัวกลับมาให้ได้ ไม่ว่าวัวจะไปอยู่ที่ไหนดึกดื่นอย่างไรก็ตาม เมื่อไม่ได้วัวมาก็ไม่ยอมกลับ นอกจากนั้นท่านยังประกอบไปด้วยเมตตาจิตในสัตว์ เช่น ถ้าใช้วัวไถนาก็จะคอยสังเกตดูดวงตะวันว่าใกล้เพลหรือยัง เพราะท่านถือคติโบราณว่า “เพลคาบ่าวัว” ถือว่าบาปมาก ท่านจะเลิกตรงเวลาจนโยมพี่สาวนึกว่าท่านขี้เกียจ เมื่อถูกดุท่านก็ไม่ยอมทำตามเพราะเห็นว่าวัวเหนื่อยมากแล้วก็จะนำไปอาบน้ำจนเย็นสบายและปล่อยให้ไปกินหญ้าอย่างเป็นอิสระ

หลวงปู่วัดปากน้ำ

การศึกษาเมื่อเยาว์วัย

ท่านเรียนหนังสือกับพระภิกษุน้าชาย (ปู่นะ)ที่วัดสองพี่น้อง ต่อจากนั้นได้มาศึกษาอักษรสมัยกับพระอาจารย์ทรัพย์ที่วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ได้ศึกษาหนังสือขอมจนสามารถอ่านหนังสือพระมาลัย ซึ่งเป็นภาษาขอมทั้งเล่มจนคล่อง

หลวงปู่วัดปากน้ำ

เหตุที่ปฏิญาณตนบวชตลอดชีวิต

เมื่ออายุ 14 ปี บิดาได้เสียชีวิตลง เนื่องจากตรากตรำในการค้าข้าว ท่านจึงต้องมารับช่วงคุมงานแทน จนกระทั่งอายุย่างเข้า 19 ปี ระหว่างทำการค้าข้าวอยู่นั้น วันหนึ่งท่านนำเรือเปล่ากลับบ้าน พร้อมกับเงินที่ได้จากการค้าหลายพันบาท จำเป็นต้องผ่านมาทางคลองเล็กซึ่งเป็นคลองลัดชาวบ้านเรียกว่า “คลองบางอีแท่น” คลองนี้ไม่ยาวมากนักแต่เปลี่ยวและมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ท่านซึ่งยืนถือท้ายเรืออยู่และเป็นจุดสำคัญที่โจรจะทำร้ายได้ก่อน ก็สับเปลี่ยนให้ลูกจ้างมาถือแทน ส่วนท่านหยิบปืนยาวไปถ่อเรือแทนลูกจ้างทางหัวเรือ พอเรือแล่นเข้าที่เปลี่ยวเข้าไปเรื่อยๆ พลันก็เกิดความคิดแว่บขึ้นมาว่า “คนพวกนี้ เราจ้างเขามาเพียง 11 – 12 บาท เท่านั้น ส่วนตัวเราเป็นทั้งเจ้าของทรัพย์และเจ้าของเรือ เมื่อมีภัยใกล้ตายกลับโยนไปให้ลูกจ้าง”
เมื่อคิดตำหนิตัวเองเช่นนี้ก็ไม่อยากเอาเปรียบลูกจ้าง ท่านจึงตัดสินใจกลับมาถือท้ายเรือตามเดิมยอมเสี่ยงรับอันตรายแต่ผู้เดียว เมื่อเรือพ้นคลองมาได้ ท่านก็มาพิจารณาเห็นว่า “การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอายขายหน้าไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกัน จนถึงบิดาเรา และตัวเราในบัดนี้ก็คงทำอยู่อย่างนี้เหมือนกัน ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว ตัวเราก็จักตายเหมือนกัน เราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า” ท่านจึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า “ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต” นี่เป็นคำอธิษฐานเหมือนกับท่านได้บวชมาแล้วตั้งแต่อายุ 19 ปี เมื่อได้ตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยวแล้วก็ขะมักเขม้นประกอบอาชีพหนักยิ่งขึ้น เพื่อสะสมทรัพย์ไว้ให้มารดาได้เลี้ยงชีพ เมื่อปราศจากท่านแล้วมารดาจะได้ไม่ลำบาก นับว่าท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทียิ่งนัก

พระอาจารย์ดี

วัดประตูสาร อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

พระครูวินยานุโยค

(เหนี่ยง  อินฺทโชโต) วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระอาจารย์โหน่ง

อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรีเป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลวงปู่วัดปากน้ำ

อุปสมบท

ท่านได้อุปสมบทเมื่อ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2449 ขณะมีอายุย่างเข้า 22 ปี ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรีมีฉายาว่า จนฺทสโร

เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อยู่ 1 พรรษา หลังจากปวารณาพรรษาแล้ว ท่านได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ขณะเรียนท่านมีความลำบากเรื่องบิณฑบาตเป็นอันมาก บางวันบิณฑบาตได้ไม่พอฉัน บางวันได้เพียงส้มผลเดียว บางวันไม่ได้เลย ท่านก็ไม่ฉันของพระรูปอื่น ซึ่งได้อาหารเพียงเล็กน้อย ท่านคิดว่า “อย่างน้อยที่สุดถ้าจะต้องตายเพราะไม่ได้ฉันอาหารก็จะเป็นเหตุให้พระทั้งเมืองมีฉัน เพราะว่าใครๆ จะเล่าลือกันไปทั่วจนทำให้ชาวบ้านสงสารพระภิกษุ”

ท่านเริ่มปฏิบัติสมถวิปัสสนากับองค์อนุสาวนาจารย์นับแต่วันบวช เมื่อบวชแล้วพอรุ่งขึ้นอีกวัน หลวงพ่อก็เริ่มลงมือปฏิบัติพระกรรมฐานต่อกับพระอาจารย์เนียม วัดน้อย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ได้จำพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง 1 พรรษา

หลวงปู่วัดปากน้ำ

การศึกษาพระปริยัติธรรม

หลังจากออกพรรษาที่วัดสองพี่น้องแล้ว หลวงพ่อก็ได้เข้าพำนักประจำอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อแสวงหาความรู้ให้แตกฉานกว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ สิบปีผ่านไปนับแต่หลวงพ่อเริ่มบวช ท่านมีความรู้ภาษาบาลีแตกฉานพอที่จะอ่านมหาสติปัฏฐานสูตรในคัมภีร์บาลีได้สมความตั้งใจแล้ว ท่านจึงวางธุระการศึกษาฝ่ายภาษาบาลีลง และใช้เวลากับวิปัสสนาธุระ เพื่อการเจริญพระกรรมฐานโดยเต็มที่

หลวงปู่วัดปากน้ำ

เข้าถึงวิชชาธรรมกาย

ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ท่านได้ไปบำเพ็ญภาวนาที่วัดโบสถ์ (บน) อำเภอบางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี และเพื่อสอนพระบาลีให้แก่ภิกษุสามเณรที่วัดนั้น จากคำกล่าวของพระครูไพโรจน์ธรรมคุณ ศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านหนึ่ง ผู้จดจำคำของหลวงปู่เมื่อตั้งใจสละชีวิตเพื่อค้นหาธรรมะไว้ดังนี้ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านตั้งสัตยาธิษฐานต่อหน้าองค์พระปฏิมากรในวัดโบสถ์ว่า

“ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้อย่างน้อยที่สุดแลง่ายที่สุด ที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้ว จักเป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ขอรับเป็นทนายศาสนา ในศาสนาของพระองค์จนตลอดชีวิต”

ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ปี พ.ศ. 2460 พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ได้ค้นพบวิธีการเข้าถึงธรรมกายซึ่งสูญหายไปหลังพุทธปรินิพพานได้ 500 ปี หลังจากนั้นพระเดชพระคุณหลวงปู่สดได้เผยแผ่วิธีการปฏิบัติธรรม เพื่อเข้าถึงธรรมกายที่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ว่า เราเกิดมาทำไม? อะไรคือเป้าหมายของการเกิดเป็นมนุษย์ ?

หลวงปู่วัดปากน้ำ

การเผยแผ่วิชชาธรรมกาย

หลังออกพรรษาในปี พ.ศ. 2460 ท่านไปพักที่วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมเพื่อไปสอนธรรมะครั้งแรก มีพระภิกษุที่สามารถปฏิบัติธรรมและเข้าถึงพระธรรมกายจำนวน 3 รูป คือ พระภิกษุสังวาลย์ พระภิกษุแบน พระภิกษุอ่วม กับฆราวาสอีก 4 คน เป็นพยานการบรรลุธรรมของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ต่อมาท่านส่งพระภิกษุสังวาลย์ไปสอนการปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงพระธรรมกายที่วัดบางปลา ปี พ.ศ. 2463

หลวงปู่วัดปากน้ำ

เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

ปี พ.ศ. 2463 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และสอนการปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงพระธรรมกายให้แก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาและสาธุชนที่มาวัดทั้งภายในและต่างประเทศ ระหว่างปี พ.ศ.2480 -2502 วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีพระภิกษุ สามเณร จำพรรษาถึง 500 รูป นับเป็นวัดที่มีการเรียนพระปริยัติและสอนปฏิบัติธรรมที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น จากการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักวิชชา ศิษยานุศิษย์จำนวนมากได้เข้าถึงพระธรรมกายและยืนยันว่า พระธรรมกายมีจริงและดีจริง ชาวต่างประเทศได้เดินทางมาศึกษาการปฏิบัติธรรมกับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ และเมื่อได้รับผลการปฏิบัติธรรมเป็นที่น่าพอใจ จึงเดินทางกลับไปเผยแผ่วิธีการปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย ณ ถิ่นกำเนิดของตน

หลวงปู่วัดปากน้ำ

อาพาธและมรณภาพ

ก่อนที่พระเดชพระคุณหลวงปู่จะมรณภาพประมาณ 5 ปี ท่านได้เรียกประชุมศิษย์ เพื่อแจ้งให้ทุกคนทราบว่าท่านจะถึงกาลมรณภาพในอีก 5 ปีข้างหน้า กิจการใดที่ท่านได้ดำเนินไว้แล้ว ขอให้ช่วยกันทำกิจการนั้น ๆ อย่าทอดทิ้ง ท่านได้ชี้แจงโครงการพัฒนาวัดปากน้ำให้คณะศิษย์ช่วยกันดำเนินต่อไปให้สำเร็จ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ท่านเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ท่านบอกว่า ต่อไปวัดปากน้ำจะเจริญรุ่งเรืองใหญ่โต มีลูกศิษย์หลายคนได้อาราธนาขอไม่ให้ท่านมรณภาพ ท่านตอบว่าไม่ได้ อีก 5 ปี ท่านจะไม่อยู่แน่ๆ แล้ว

เมื่อท่านอาพาธหนักได้เรียกศิษย์ให้ดำเนินการสอนเผยแผ่วิชชาธรรมกายต่อไป และสั่งว่า เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ให้เก็บสรีระของท่านไว้ไม่ให้เผา

พระเดชพระคุณหลวงปู่ ท่านถึงแก่ มรณภาพอย่างสงบสมดังเช่นจอมทัพธรรม ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์   พ.ศ. 2502 เวลา 15.05 น.

หลวงปู่วัดปากน้ำ

การสืบทอด

แม้ท่านจะละสังขารไปแล้วก็ตาม คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ศิษย์เอกท่านหนึ่งของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ เคารพและเชื่อฟังคำของพระอาจารย์ที่สั่งให้ท่านสอนสมาธิต่อไปที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ในวัดปากน้ำ เพื่อรอผู้ที่จะมาสืบทอดการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายในภายหลัง ตามคำบอกเล่าของท่าน ปี พ.ศ. 2513 คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และหลวงพ่อธัมมชโย ได้สร้างวัดเพื่อสอนการปฏิบัติธรรมขึ้นแห่งหนึ่ง โดยมีหลวงพ่อธัมมชโยเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งท่านได้สานต่อมโนปณิธานของพระเดชพระคุณหลวงปู่ ด้วยการสอนการปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงพระธรรมกายสืบไป

หลวงปู่วัดปากน้ำ

ความสำคัญของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ

พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำได้สอนให้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม และการหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ท่านยืนยันการบรรลุธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และยืนยันคำสอนของพระพุทธองค์ว่ามีจริง และดีจริง ดังนั้น หลวงปู่จึงเป็นผู้ทำให้เรามีความเชื่อมั่น และศรัทธาในคำสอนของพระพุทธองค์ที่ได้บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะคำว่า “ธรรมกาย” ที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก แต่ไม่ได้บอกวิธีการเข้าถึง พวกเราได้มีโอกาสรู้จักคำว่า “ธรรมกาย” และวิธีการเข้าถึงธรรมกาย ก็เพราะพระเดชพระคุณหลวงปู่ ท่านค้นพบวิธีการเข้าถึงพระธรรมกายกลับคืนมาให้แก่ชาวโลก พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านยืนยันว่า ผู้ที่ได้เข้าถึงพระธรรมกายสามารถไปนรกก็ได้ ไปสวรรค์ก็ได้ ไปจับมือถือแขนพูดคุยกับสัตว์นรก หรือเอาบุญไปให้ได้ บุคคลผู้รู้เห็นเช่นนี้ ย่อมยืนยันว่าสวรรค์ นรก มีจริง บาป บุญ มีจริง พระคุณบิดา มารดามีจริง ฯลฯ ทำให้เราสามารถเลือกภพภูมิหลังความตายได้อย่างถูกต้อง

แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที ถ้านั่งลงไปแล้ว ไม่บรรลุธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเห็น จะไม่ยอมลุกจากที่จนตลอดชีวิต

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) 
หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

เหตุการณ์ในชีวิตของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

ปี พ.ศ. อายุ เหตุการณ์ในชีวิตหลวงปู่ เหตุการณ์บ้านเมือง
2427
หลวงปู่เกิดเกิดที่บ้านสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
-
2436
9
เรียนหนังสือกับพระน้าชาย
-
2441
14
บิดาถึงแก่กรรม เริ่มเป็นพ่อค้าข้าว
-
2446
19
อธิษฐานขอบวชตลอดชีวิต
-
2449
22
อุปสมบท
-
2460
33
บรรลุธรรม
ไทยร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1
2461
34
มาอยู่วัดปากน้ำ
สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1
2474
47
ตั้งโรงงานทำวิชชา
-
2480
47
คุณยายพบหลวงปู่วัดปากน้ำ
เริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 (2482)
2487
60
หลวงพ่อธัมมชโยเกิด
สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (2488)
2493
66
ทำพระของขวัญรุ่นที่ 1, ตั้งโรงเรียน
เริ่มสงครามเกาหลี
2494
67
ทำพระของขวัญรุ่นที่ 2
-
2496
69
ส่งพระไปเผยแผ่ที่อังกฤษ
-
2499
72
ทำพระของขวัญรุ่นที่ 3
สิ้นสุดสงครามเกาหลี
2502
74
มรณภาพ ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
-